วันอังคารที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

สรุปความเป็นมาของ พระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543

สาระสำคัญของกฎหมาย
  1. แก้ไขหลักการจากเดิมที่กำหนดให้ธุรกิจทั้งนิติบุคคลและบุคคลธรรมดาที่ประกอบธุรกิจ ตามประเภทที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดต้องจัดทำบัญชี เป็นกำหนดให้เฉพาะนิติบุคคลทั้งที่จดทะเบียน ตามกฎหมายไทยและต่างประเทศที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทยและกิจการร่วมค้าตามประมวลรัษฎากร เป็นผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี ส่วนบุคคลธรรมดาและห้างหุ้นส่วนที่ไม่ได้จดทะเบียนจะต้องจัดทำบัญชีต่อเมื่อรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้เป็นผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี
  2. กำหนดให้ผู้ทำบัญชีต้องเข้ามามีส่วนรับผิดชอบในการจัดทำบัญชีของธุรกิจโดยแบ่งแยก หน้าที่และความรับผิดชอบระหว่างผู้ทำบัญชีและผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีให้ชัดเจน กล่าวคือ
      2.1 กำหนดความรับผิดชอบของผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี ในการจัดให้มีการทำบัญชีและงบการเงินให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด และมีหน้าที่ต้องจัดส่งเอกสารประกอบการลงบัญชีให้ผู้ทำบัญชีเพื่อจัดทำบัญชีให้ถูกต้องตามความเป็นจริง และตามมาตรฐานการบัญชีและยื่นงบการเงินที่ได้รับการตรวจสอบและให้ความเห็นของผู้สอบบัญชี รับอนุญาตแล้ว รวมทั้ง จัดให้มีผู้ทำบัญชีที่มีคุณสมบัติตามที่อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าประกาศกำหนด 2.2 ผู้ทำบัญชี (หมายถึงผู้รับผิดชอบในการทำบัญชีของผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีไม่ว่าจะได้ กระทำในฐานะเป็นลูกจ้างของผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีหรือไม่ ซึ่งได้แก่พนักงานบัญชีของบริษัท หรือ ผู้รับจ้างทำบัญชีอิสระหรือสำนักงานรับทำบัญชี) ต้องจัดทำบัญชีให้เป็นไปตามความจริงตามมาตรฐาน การบัญชี โดยมีเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนรายการให้ถูกต้องครบถ้วน
  3. กำหนดให้อธิบดีมีอำนาจกำหนดคุณสมบัติและเงื่อนไขของการเป็นผู้ทำบัญชรวมทั้งกำหนดข้อยกเว้นให้ผู้มี หน้าที่จัดทำบัญชี หรือผู้ทำบัญชีไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือส่วนใดส่วนหนึ่ง
  4. กำหนดยกเว้นให้งบการเงินของผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีที่เป็นห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ที่มี ทุน สินทรัพย์หรือรายได้ ไม่เกินที่กำหนดในกฎกระทรวงไม่ต้องได้รับตรวจสอบโดยผู้สอบบัญชี
  5. ลดภาระของธุรกิจในการจัดเก็บบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีจาก 10 ปี เหลือ 5 ปีและในกรณีจำเป็น อธิบดีโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรี ขยายระยะเวลาจัดเก็บได้แต่ต้องไม่เกิน 7 ปี
  6. ปรับปรุงข้อกำหนดต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับระบบการจัดทำบัญชีด้วยคอมพิวเตอร์ เช่น การเก็บรักษาบัญชีการลง รายการในบัญชี เป็นต้น
  7. ปรับปรุงบทกำหนดโทษให้เหมาะสม ครอบคลุมถึงผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี ผู้ทำบัญชี และ ผู้ที่เกี่ยวข้องและให้ อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายมีอำนาจเปรียบเทียบปรับได้สำหรับความผิดที่มี โทษปรับเพียงอย่างเดียว หรือมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน เพื่อลดขั้นตอนปฏิบัติและสะดวกต่อ ผู้ประกอบธุรกิจ
  8. กำหนดบทเฉพาะกาล ยกเว้นให้ผู้ที่ประกอบอาชีพเป็นผู้ทำบัญชีอยู่ก่อนแล้ว แต่ไม่มีคุณสมบัติตามที่อธิบดี กำหนด สามารถประกอบอาชีพต่อไปได้หากได้ประกอบอาชีพอยู่ก่อนแล้ว ไม่น้อยกว่า 5 ปโดยให้แจ้งต่อ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า พร้อมทั้งเข้าอบรมและสำเร็จการอบรมตามหลักเกณฑ์และระยะเวลาที่กำหนดก็จะสามารถ ทำบัญชีต่อไปได้อีก 8 ปี นับตั้งแต่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ
 ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
  1. ทำให้คุณภาพของการจัดทำบัญชีของภาคธุรกิจมีมาตรฐานยิ่งขึ้น มีการเปิดเผยข้อมูล อย่างเพียงพอ ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจการค้าของประเทศโดยรวมและเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้ข้อมูลงบการเงิน
  2. เป็นการยกมาตรฐานของนักบัญชีและให้นักบัญชีเข้ามามีส่วนรับผิดชอบในการจัดทำบัญชีให้ถูกต้อง
  3. เป็นการลดภาระของภาคเอกชนลง และสอดคล้องกับระบบการจัดทำบัญชีของภาคธุรกิจ ที่พัฒนาไปตามความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น